
มายาเป็นอารยธรรมโบราณอารยธรรมหนึ่งในอเมริกากลาง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ของเม็กซิโก กัวเตมาลา และทางเหนือของเบลีซ มีสิ่งปลูกสร้างทำด้วยหิน พีระมิด อักษรภาพ มีการบูชาเทพเจ้าและพิธีกรรม แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมซึ่งถึงจุดสูงสุดเมื่อราวปี 250-900 ก่อนจะเสื่อมถอยลงวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ถูกยกขึ้นมาเป็นวันสิ้นโลก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะวันนั้นตรงกับวันสิ้นสุดปฏิทินรอบใหญ่ของชาวมายาที่ เรียกว่า Long Count ปฏิทินชนิดนี้เป็นหนึ่งในปฏิทินหลายแบบของชาวมายา (แบบอื่นที่เคยกล่าวถึงมาแล้วคือแบบที่เกี่ยวกับวัฏจักรการเคลื่อนที่ของดาว ศุกร์) พวกเขาใช้ตัวเลข 5 ตัว และเลขฐาน 20 เป็นหลักในระบบปฏิทินแบบ Long Count การเขียนจะใช้อักษรภาพแทนตัวเลข เรียงกันในแนวตั้ง โดยเริ่มนับที่ 0.0.0.0.0 ซึ่งพบว่าตรงกับวันที่ 11 ส.ค. 3,114 ปีก่อนคริสตกาล ตามปฏิทินเกรกอเรียน หรือ 6 ก.ย. ปีเดียวกัน ตามปฏิทินจูเลียน วันที่ 19 นับเป็น 0.0.0.0.19 จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 20 จะนับเป็น 0.0.0.1.0เลขหลักที่ 2 จากขวามือ ต่างกับหลักอื่นตรงที่จะใช้ตัวเลขสูงสุดถึงแค่ 18 ดังนั้น 0.0.1.0.0 จึงตรงกับวันที่ 360 (ประมาณ 1 ปี) 0.1.0.0.0 ตรงกับวันที่ 7,200 (ประมาณ 20 ปี) และ 1.0.0.0.0 ตรงกับวันที่ 144,000 (ประมาณ 394 ปี) การที่ชาวมายาใช้เลข 13 และ 20 เป็นรากฐานของระบบตัวเลข โดยปีหนึ่งมี 13 เดือน แต่ละเดือนยาวนาน 20 วัน จึงมีความเชื่อว่าปฏิทินแบบ Long Count นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 13.0.0.0.0 ก่อนจะเริ่มรอบใหม่ วัฏจักร Long Count จึงยาวนาน 1,872,000 วัน (ผลลัพธ์ของ 13 x 20 x 20 x 18 x 20) หรือราว 5,125 ปี ซึ่งถ้านับมาจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 3,114 ปีก่อนคริสตกาล วันที่ 13.0.0.0.0 ในปฏิทินมายาจะตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. 2012
นอกจากการสิ้นสุดของปฏิทินมายาจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับวันสิ้นโลก หรือบ้างก็ว่าเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว วันที่ 21 ธ.ค. ยังตรงกับวันเหมายัน (Winter Solstice) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ และเป็นช่วงที่เวลากลางคืนยาวนานกว่าเวลากลางวันมากที่สุด เมื่อมองจากโลกจะเห็นดวงอาทิตย์โคจรมายังจุดที่เยื้องลงไปทางทิศใต้มากที่สุดระบบสุริยะของเราอยู่ในดาราจักรที่เรียกว่าดาราจักรทางช้างเผือก มีลักษณะเป็นจานแบน ป่องออกตรงกลาง ระนาบของจานคือเส้นศูนย์สูตรของทางช้างเผือก สุริยวิถีซึ่งเป็นเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ลากผ่านกลุ่มดาวจักรราศี อยู่คนละระนาบกับเส้นศูนย์สูตรของทางช้างเผือก แต่มีจุดตัดกัน 2 จุด จุดหนึ่งอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ปัจจุบันอยู่ใกล้กับตำแหน่งของจุดเหมายัน อีกจุดหนึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มดาววัวกับกลุ่มดาวคนคู่การคำนวณทางดาราศาสตร์พบว่า ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันเหมายันจะผ่านระนาบทางช้างเผือกในช่วงปี 1980-2016 โดยผ่านศูนย์กลางพอดีในปี 1998 เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 26,000 ปี ตามคาบการส่ายของแกนหมุนของโลก

จอห์น เมเจอร์ เจนกินส์ นักเขียนคนหนึ่ง เรียกการเรียงตัวกันนี้ว่า Galactic Alignment เขาอ้างว่าชาวมายาล่วงรู้ถึงการเรียงตัวกันดังกล่าว โดยสังเกตจากแนวมืดในแถบทางช้างเผือก ซึ่งเกิดจากฝุ่นที่บดบังแสงจากดาวเบื้องหลัง และยังอ้างอีกว่าชาวมายากำหนดจุดสิ้นสุดของปฏิทินแบบ Long Count ให้ตรงกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นของวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ให้มากขึ้นไปอีก
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
:http://www.kruprakruang.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น